เชียงใหม่ – ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า คำโขก คำปรุง โพสต์ภาพบานประตูโบราณอายุร้อยกว่าปีภายในวิหารวัดหมื่นล้าน ถนนราชดำเนิน กลางเมืองเชียงใหม่ ที่อยู่ระหว่างบูรณะ โดยพบว่ามีการทาสีทับภาพวาดเก่าแก่บนประตูจนหายไปทั้งหมด โดยระบุว่า บานประตูนี้เป็นบานประตูที่ทำด้วยเทคนิคการทำลายรดน้ำ เป็นหนึ่งในไม่กี่บานที่มีขนาดใหญ่และเป็นบานของวิหารหลักของวัดในเชียงใหม่ที่ยังเหลือ ตรงที่ประตูมีการจารึกเป็นตัวธรรมล้านนาว่า “พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ แล จุลศักราช ๑๒๗๙ เดือน ๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วัน ๔ ได้สร้างหน้ามุกวิหารหนังนี้ นิพพานปจฺจโยโหตุโนนิจจํ” จารึกบานนี้ได้เขียนสร้างถวายพร้อมมุกหน้าพระวิหารที่ต่อเติมจากหลังเดิมในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นบานประตูที่มีอายุไล่เลี่ยกันมาตลอดกับวัดในเชียงใหม่หลายที่ แต่ในปัจจุบันเนื้องานโบราณได้รับการบูรณะ ด้วยการทำพื้นงานใหม่ทับลงไปบนงานโบราณ
โดยได้รับข้อมูลมาว่า จะมีการคัดลอกลายและเขียนขึ้นใหม่ในแบบฉบับเดิมในภายหลัง บทเรียนครั้งนี้เราทุกท่านขออย่ามองข้าม เพราะต่อไปอาจมีแบบนี้เกิดขึ้นอีกที่ไหนก็ได้ ขอท่านทั้งหลายมองเป็นบทเรียน “การปล่อยให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไรเลย เท่ากับการสนับสนุนสิ่งนั้น” จะเสียดายก็แต่ว่างานโบราณนั้นไม่ได้ถูกการรักษาเนื้องานชั้นครูและเรื่องราวผ่านกาลเวลาเอาไว้ ประตูบานนี้คงอยู่ในมโนสำนึกสืบไป
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจที่วัดหมื่นล้าน พบวิหารยังอยู่ระหว่างการบูรณะ มีการทำหลังคาใหม่และบานหน้าต่างใหม่รอบพระวิหารที่ทาสีแดงทับของเดิม ส่วนบานประตูของวิหาร พบว่าถูกเปลี่ยนจากสีแดงที่ถูกทาทับลงไปก่อนหน้านี้เป็นสีน้ำตาลเข้ม ไม่หลงเหลือภาพวาดโบราณบนบานประตูให้เห็นขอบประตูด้านล่าง มีป้ายวางบอกไว้ว่า “กรุณาอย่าจับ สีประตูยังไม่แห้ง”
ด้านเจ้าอาวาสวัด บอกว่าตัววิหารสร้างมานานแล้ว อยู่ในสภาพทรุดโทรม ส่วนใหญ่เป็นไม้ ซึ่งมีปลวกขึ้นทั้งบานประตู, หน้าต่าง, หลังคา ทางวัดจึงมีความตั้งใจบูรณะให้กลับมามีสภาพที่มั่นคงแข็งแรง ประกอบกับมีผู้ใจบุญแสดงความจำนงสนับสนุนในการบูรณะเพื่อเป็นการทำนุบำรุงศาสนา ต่อมาผู้ใจบุญได้ติดต่อให้ช่างเข้ามาดำเนินการ แต่ทางวัดก็มาทราบภายหลังว่ามีการทาสีทับภาพวาดโบราณที่บานประตู
ด้านนายเทิดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยว่าศาสนสถานภายในวัดหมื่นล้านไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แต่ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานและโบราณวัตถุ แม้จะขึ้นหรือไม่ขึ้นทะเบียนไว้ แต่หากโบราณสถานใดที่เข้าข่ายเป็นโบราณสถาน ทั้งเรื่องของอายุ ศิลปกรรม รูปแบบสถาปัตยกรรม หรือประวัติศาสตร์ หากกรณีใดกรณีหนึ่งเข้าองค์ประกอบ ก็จะถือว่าเป็นโบราณสถาน หากจะมีการบูรณะซ่อมแซมเปลี่ยนแปลง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมศิลปากร
กรณีบานประตูวัดหมื่นล้าน สำนักศิลปกรที่ 7 จะเข้าตรวจสอบดูว่าการบูรณะเปลี่ยนสี เป็นการขัดลอกลายเดิมออกแล้วทาสีทับ หรือ ทาสีทับโดยไม่ได้ขัดลอกลายเดิม หากพบว่าเป็นการทาสีทับ โดยไม่มีการขัดลอกลายเดิมทิ้งไป ถือว่ายังมีโอกาส โดยสำนักศิลปากรที่ 7 จะประสานงานไปยังกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ เข้ามาใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ใช้น้ำยาช่วยในการลบสีใหม่ออกไปและดึงภาพเก่ากลับคืนมา อย่างไรก็ตามจะต้องพูดคุยกับทางวัดถึงรายละเอียดและความยินยอมของทางวัดอีกครั้ง.