กระทรวงศึกษาธิการ ย้ำ!! กำหนดเปิดเรียนวันที่ 17 พ.ค.นี้ ตามเดิม

กระทรวงศึกษาธิการย้ำใช้กำหนดเปิดเรียนวันที่ 17 พ.ค.นี้ ตามเดิม แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น อาจเลื่อนเปิดวันที่ 1 มิ.ย. โดยพิจารณาเป็นพื้นที่ไปตามสถานการณ์ ยืนยันไม่ปิดโรงเรียนพร้อมกันทั่วประเทศ

วันนี้ (19 เม.ย.2564) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เรียกประชุมคณะผู้บริหาร รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หารือเพื่อประเมินสถานการณ์เปิด-ปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564 เบื้องต้น เห็นตรงกันจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 17 พ.ค.นี้ ตามกำหนดการเดิม เพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียนการสอนและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ปกครอง จากนั้นจะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ๆ ไป หากสถานการณ์ ยังไม่ดีขึ้นจะเลื่อนเปิดเรียนเป็นวันที่ 1 มิ.ย.แทน แต่จะไม่สั่งปิดพร้อมกันทั่วประเทศ

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ จะพิจารณาตามพื้นที่ความเสี่ยง และจัดรูปแบบการเรียนการสอน ให้เหมาะสมกับผู้เรียน และบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยผู้เรียนเป็นคนเลือกเอง ว่าจะเรียนรูปแบบไหน เช่น ให้ครูส่งแบบฝึกหัดไปให้ทำที่บ้าน เรียนออนไลน์ ต้องไม่บังคับเด็กว่าจะเรียนแบบไหน เปิดโอกาสให้เด็กเลือกเอง

การสอบคัดเลือกของนักเรียนชั้น ม. 1 และ ม.4 ที่จะสอบในวันที่ 2 พ.ค.นี้ มีกำหนดให้เลื่อนออกไปก่อน โดยอาจจะสอบในวันที่ 4-12 พ.ค. และต้องปฏบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยกำหนดให้ห้องสอบและการรายงานตัวต้องไม่เกิน 50 คน หรือใช้สถานที่ของโรงเรียนอื่นที่ใกล้เคียงเป็นสนามสอบ เพื่อกระจายนักเรียนไปไม่ให้เกิดความแออัด โดยกระทรวงศึกษาธิการให้ สพฐ.จัดทำแผน เสนอให้ ศบค.พิจารณาตามความเหมาะในวันที่ 30 เม.ย.นี้

ส่วนกรณีการสอบบรรจุครูที่เรียกตัวมาไม่ทัน อาจส่งผลให้โรงเรียนขาดครูในบางวิชาก็ให้ใช้บัญชีของครูที่มีอยู่แล้ว และให้ใช้แนวทางโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง และโรงเรียนที่มีความพร้อม เข้ามาช่วยเหลือกัน หากโรงเรียนใดยังมีปัญหาอยู่ ห้แจ้งมาที่ส่วนกลางเพื่อเข้าไปสนับสนุน

สำหรับการหารือครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้เปิดรับฟังข้อเสนอจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจ

จัดการสอน 4 รูปแบบ รองรับโควิดระบาดต่อเนื่อง

ด้านนายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. ระบุว่า ต้องรอประเมินสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กทม.ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ก่อน จึงจะตัดสินใจได้ว่าจะเลื่อนเปิดเรียนหรือไม่ จากเดิมกำหนดเปิดเรียนในวันที่ 17 พ.ค.นี้ โดยจะประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้อำนวยการโรงเรียนทั้ง 437 แห่ง ประมาณต้นเดือน พ.ค.นี้ แต่จะประเมินให้สอดคล้องกับกระทรวงศึกษาธิการด้วย

อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องปิดภาคเรียนต่อไป สำนักการศึกษาได้เตรียมจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานไว้ 4 รูปแบบ คือ

การสลับชั้นมาเรียนของนักเรียนแบบสลับวันเรียน
การสลับชั้นมาเรียนของนักเรียนแบบสลับวันคู่ วันคี่
การสลับช่วงเวลามาเรียนของนักเรียนแบบเรียนทุกวัน
การสลับกลุ่มนักเรียนแบบแบ่งนักเรียนในห้องเป็น 2 กลุ่ม

โดยแต่ละรูปแบบจะมีความเหมาะสมกับขนาดโรงเรียน และพื้นที่ที่แตกต่างกัน ควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุข

นอกจากนี้ ก่อนเปิดเรียนจะให้ทางโรงเรียนประเมินความเสี่ยงของผู้ปกครองผ่านแบบคัดกรองประเมินความเสี่ยงของ กทม.หากมีความเสี่ยงก็จะขอความร่วมมือให้หยุดเรียนไปก่อน และให้ครูประจำชั้นจัดการเรียนการสอนผ่านไลน์ให้กับนักเรียนแทน

เครดิตแหล่งข้อมูล : thaipbs

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร<