อุตุฯเตือน ฝนฟ้าคะนองทั่วไทย รับมือฝนตกหนัก ระวังน้ำท่วม อันดามันคลื่นสูง

กรมอุตุฯ เตือนไทยยังมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ กลาง ตะวันออก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก กรมชลฯพร้อมรับมือน้ำหลาก-ล้นตลิ่งหลังอุตุฯ “อันดามัน” คลื่นลมแรงสูง 2-3 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองสูงกว่า 3 เมตร เตือนชาวเรือระมัดระวัง-เรือเล็กงดออกจาฝั่ง

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ ประเทศลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมามีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส

พยากรณ์อากาศรายภาค ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี และราชบุรี ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) : มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ด้าน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ฉบับที่ 5/2564 เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าประเทศไทยจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม -3 สิงหาคม 2564 จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ซึ่งจากการติดตามประเมินสถานการณ์ในแม่น้ำสายต่างๆ พบว่าระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

พร้อมกับกำชับให้ตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเตรียมรับมือและป้องกันน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ชุมชน ตามมาตราการป้องกันเหตุที่ได้กำหนดไว้ รวมไปถึงการกำหนดพื้นที่เสี่ยง และกำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำจุด เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์

สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งกรมชลประทาน จะเน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดก่อนสิ้นสุดฤดูฝน โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าอย่างเพียงพอ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร<