รมช.เกษตรฯ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เตือนประชาชนไม่ซื้อ-ไม่ขาย “สับปะรดสีชมพู” ย้ำประเทศไทยปลอดพืช GMO พบใครครอบครองเอาผิดตามกฎหมายทันที
4 มิถุนายน 2565 ความคืบหน้าหลังจาก กระทรวงเกษตรฯ โดย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า มีการพบ สับปะรดเนื้อสีชมพู ซึ่งเป็นพืชตัดต่อพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ (GMO) จึงได้ให้กรมวิชาการเกษตรตรวจเข้มทุกพื้นที่ เพราะประเทศไทยมีนโยบายปลอดพืชจีเอ็มโอ ไม่มีการอนุญาตนำเข้าแต่อย่างใด พร้อมเตือนประชาชนว่าอย่านำเข้าพืชดังกล่าว หรือสนับสนุนในการซื้อขาย ผู้ใดครอบครองจะมีความผิดตามกฎหมาย
ล่าสุด นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้จัดแถลงข่าว “ผักผลไม้ GMOs บุกไทย หน่วยงานรัฐใดต้องรับผิดชอบ หวั่นปนเปื้อนผลไม้พื้นถิ่น ผู้บริโภคเสี่ยง กระทบการส่งออกผลไม้” ซึ่งเรียกร้องให้ภาครัฐจัดการปัญหาลักลอบนำเข้า ผักผลไม้จีเอ็มโอ โดยเฉพาะสับปะรดสีชมพูนั้น ทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้เพิ่มมาตรการกำกับดูแลตามกฎหมาย โดยกำหนดให้อาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือ GMO เป็นอาหารห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย เว้นแต่ผ่านการประเมินความปลอดภัยตามเกณฑ์ที่กำหนด
รวมทั้งแก้ไขให้อาหาร GMO ทุกชนิดต้องแสดงฉลากตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องอาหารจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม และประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการแสดงฉลากครอบคลุมอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม
ขณะนี้ ประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว อยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับทางกฎหมายต่อไป
สับปะรด จัดเป็นอาหารทั่วไป ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 การนำเข้าซึ่งอาหาร เพื่อจำหน่ายต้องมีใบอนุญาตนำเข้า และผ่านการตรวจสอบของด่านอาหารและยา แต่สับปะรดสีชมพูเป็นสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 การนำเข้าจึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว
อย. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฝ้าระวังการนำเข้าสับปะรดสีชมพูอย่าง เข้มงวด และจากการตรวจสอบของทั้ง 2 หน่วยงาน ไม่พบข้อมูลการนำเข้าสับปะรดสีชมพู แต่จากการที่พบมีการจำหน่ายเชื่อว่าไม่ผ่านตามขั้นตอนของกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย
“ ทั้ง 2 หน่วยงานจะประสานกับกรมศุลกากรเพื่อเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าสับปะรดสีชมพูเข้ามาในประเทศต่อไป ” รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด
สำหรับพืชสับปะรด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสับปะรด Ananas Comosus(L)Merr. จัดเป็นสิ่งที่ต้องห้ามภายใต้พรบ.กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สามารถนำเข้าได้เฉพาะจากแหล่งที่ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชเท่านั้น ปัจจุบันอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์แหล่งเดียว หากนำเข้าจากแหล่งที่ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชจะถูกส่งกลับหรือทำลาย และผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ