รองโฆษกรัฐบาลชี้แจง “ลดต้นลดดอก” ในประกาศใหม่ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์/จักรยานยนต์ คืออะไร มีผลบังคับใช้ 10 ม.ค.66 ย้ำคุ้มครองผู้บริโภคไม่ถูกเอาเปรียบ
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 – รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ฉบับปี 2561 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์นั้น ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าการแก้ไขสัญญาดังกล่าว ส่งผลให้การคิดดอกเบี้ยเป็นการคิดแบบลดต้นลดดอก
ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยตามประกาศฯ ฉบับนี้ เป็นการคำนวณแบบลดต้นลดดอก แต่คำว่าลดต้นลดดอกนั้น จะต้องไปยึดโยงกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี (Effective Interest Rate) เช่น กรณีดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate) จะต้องยึดโยงกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี คือ การคิด ‘อัตราดอกเบี้ยคงที่’ นั้นๆ จะต้องไม่เกินกว่า ‘อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี’ ที่กำหนดไว้
โดยผู้เช่าซื้อสามารถตรวจสอบได้จากตารางแสดงภาระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อท้ายสัญญา ซึ่งจะดูได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นเท่าไหร่ และคำนวณเป็นดอกเบี้ยรายเดือนเท่าไหร่ ถ้าผู้เช่าซื้อไปดูดอกเบี้ยตามสัญญาแนบท้าย แล้วมาคำนวณ ดอกเบี้ยเบ็ดเสร็จจะต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด หากเกินเพดาน ก็ถือว่าผู้ให้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้
สำหรับสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ ได้แก่ การคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ต้องคิดในอัตราที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) ซึ่งหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะของการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด และในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไว้เป็นการเฉพาะ ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตามกลไกตลาด โดยคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) ดังนี้
- กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี
- กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
- กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 23 ต่อปี
ทั้งนี้ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาอาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยลดลงหรือเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในทุก 3 ปี
มากไปกว่านั้น ประกาศฯ ฉบับใหม่นี้ ยังได้ระบุถึงการคำนวณยอดหนี้ผิดนัด ซึ่งก่อนหน้าผู้ประกอบการบางส่วนนำหนี้ทั้งก้อนไปคิดเป็นเบี้ยปรับ ถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้เช่าซื้อ ดังนั้น ประกาศฯฉบับใหม่ จึงได้กำหนดให้คิดเบี้ยปรับได้ไม่เกิน 5% ต่อปี และให้คิดเบี้ยปรับจากยอดหนี้ที่ผิดนัดชำระเท่านั้น ส่วนหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถนำมาคิดเป็นเบี้ยปรับได้
ในส่วนของการเลิกสัญญาและการยึดรถ ประกาศฯฉบับเดิมเขียนไว้ว่า หนี้ที่ยังขาดอยู่ เจ้าหนี้เช่าซื้อสามารถเรียกเก็บจากผู้เช่าซื้อได้ โดยสามารถเรียกเก็บได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ประกาศฯฉบับใหม่ จะให้คำนวณเฉพาะส่วนหนี้ที่ยังขาดชำระเท่านั้น ไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระได้
“ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่วนสัญญาเช่าซื้อฯ ที่ทำขึ้นก่อนวันที่ 10 มกราคม 2566 จะยังคงเป็นไปตามประกาศฯฉบับปี 2561 จึงขอให้ประชาชนที่กำลังจะเช่าซื้อรถยนต์หรือจักรยานยนต์ และผู้ประกอบการทำความเข้าใจกับกฏหมายให้ดี และขอเน้นย้ำว่า วัตถุประสงค์หลักของประกาศฯ นี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานาน” รัชดา กล่าว