สำหรับผู้ที่ขับขี่รถบนถนนหนทาง ไม่ว่าจะเป็นการขับรถใหญ่หรือรถเล็ก เมื่อเจอจุดตรวจของตำรวจในพื้นที่ หลายคนต่างตกอกตกใจถึงขั้นขวัญหนี ดีฝ่อกันเลยทีเดียว บางคนถึงกลับหันหัวรถกลับทันที แต่ไม่ทันแล้วครับ เพราะก่อนจะถึงด่านตรวจ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูต้นทางเป็นระยะว่ามีรถคันไหนที่กระทำความผิด พ.ร.บ.จราจรบ้าง แล้ว ว.บอกจุดตรวจข้างหน้า ว่ารถคนนี้ผิดกฎจราจร หากท่านใดเลี้ยวรถกลับเพื่อหนีการตรวจ อาจเจอข้อหาขับรถย้อนศรอีกกระทงหนึ่งก็อาจจะเป็นไปได้
คนที่ขับรถถูกต้องบอกว่าไม่กลัวตำรวจจับ การตรวจจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
1.การตั้งจุดตรวจจุดสกัดเพื่อกวดขันวินัยจราจร ซึ่งมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นหัวหน้าชุดในการปฏิบัติงาน
2.การตรวจจับด้วยความผิดซึ่งหน้า คือเมื่อเห็นผู้กระทำความผิดต่อหน้าต่อตา ก็สามารถดำเนินการจับกุมได้เลยโดยไม่ต้องตั้งจุดตรวจ บางคนเลยกล่าวหาว่าตำรวจตั้งด่านลอย แต่แท้จริงแล้วคือการจับกุมในความผิดซึ่งหน้า
สำหรับหลักการตรวจจับกวดขันวินัยจราจร หลักๆ มี 10 ข้อ คือ
1.ขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกินกฎหมายกำหนดคือ 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 2.ไม่ขับรถย้อนศร 3.ไม่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 4.ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ 5.ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งขณะขับขี่รถยนต์
6.ห้ามแซงในที่คับขัน 7.ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่รถ (เมาไม่ขับ) 8.ต้องสวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ 9.ไม่ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่ปลอดภัย คืออุปกรณ์ส่วนควบไม่สมบูรณ์ เช่นกระจกมองข้าง ไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟท้าย รวมถึงเบรกและล้อ 10.ไม่โทรศัพท์ขณะขับขี่รถ
นี่คือ 10 ข้อหลักๆที่ตำรวจจราจรตรวจจับกันอยู่บ่อย เพราะเป็นตัวชี้วัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการกวดขันผู้ขับขี่เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ
ส่วนอีกอันคือ การตรวจจับรถแต่งซิ่ง ในส่วนนี้จะมีความผิดในข้อหาดัดแปลงสภาพรถ , ข้อหาอุปกรณ์ส่วนควบไม่สมบูรณ์ และข้อหาใช้ท่อที่มีปริมาณความดังของเสียงท่อไอเสียเกินกฎหมายกำหนด คือไม่เกิน 95 เดซิเบล A