กระทรวงคมนาคม เปิดผลสอบสาเหตุการบินไทยขาดทุน พบบริหารงานผิดพลาด โยงถึงผู้บริหารระดับสูงหลายสิบคน เตรียมส่งนายกฯ วันจันทร์นี้ (31 ส.ค.)
วานนี้ (28 ส.ค.63)โดยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของการบินไทย ได้เปิดเผยผลการตรวจสอบการขาดทุนของการบินไทย มีสาเหตุสำคัญมาจากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ เมื่อนำมาทำการบิน ก็เกิดปัญหาขาดทุนทุกเส้นทาง ตั้งแต่เที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพ-นิวยอร์ก ในปี 48 ซึ่งเป็นการขาดทุนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทมา 60 ปี เป็นมูลค่า 21,450 ล้านบาท
และยังเป็นปัญหาภาระในการดูแลจนถึงปัจจุบัน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจำนวนมหาศาล มีการเสียเงินแบบไม่น่าเสีย และส่อไปในทางทุจริต และในช่วงปี 2560 – 2562 ซึ่งขาดทุนรวมไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงมาก เช่น ค่า OT ฝ่ายช่างสูงถึง 2,022 ล้านบาท โดยตรวจพบพนักงาน 1 คนทำ OT สูงสุดได้ถึง 3,354 ชั่วโมง มีวันทำ OT ถึง 419 วัน แต่ 1 ปี มีเพียง 365 วัน มีการจัดหาเครื่องบินรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ แบบเช่าดำเนินงาน แต่ละลำมีส่วนต่างของราคาต่างกันถึง 589 ล้านบาท ทั้งที่เป็นเครื่องบินแบบเดียวกัน และยังมีอีกมากมาย ในหลายๆ แผนก ทั้งการขายตั๋ว การโฆษณา การจัดซื้ออุปกรณ์บนเครื่อง ครัวการบินไทย น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้น
-โดยคณะทำงานฯ จะรายงานผลการตรวจสอบ ต่อกระทรวงการคลัง , คณะกรรมการ ปปช. , ปปท. และนายกรัฐมนตรี ภายในวันจันทร์นี้ (31 ส.ค.นี้) เพื่อดำเนินการอย่างเด็ดขาด และเป็นบทเรียนในการวางแผนการบริหารงานในอนาคตต่อไป