เมื่อศีลเสมอกันจึงถึงกัน ศีลเสมอกันคืออะไร อย่างไรถึงเรียกว่าศีลเสมอกัน ถ้าคุณได้เห็นข้อความนี้ แสดงว่าศีลเราเสมอกัน….
จะแปลกมั้ย? ถ้าคนอย่างผมที่เชื่อในการพัฒนาตัวเอง เชื่อในการควบคุมชะตาชีวิตด้วยตัวเราเอง จะบอกว่าเรื่อง “บุญ” เรื่อง “กรรม” นั้นมีอยู่จริง คำว่า “ศีลต้องเสมอ” จึงจะได้พบนั้น เป็นเรื่องจริง คำว่า “บุญถึง” นั้นไม่ใช่เรื่องที่หลอกให้คนเชื่อในบาปบุญ แต่มันมีอยู่จริง
เคยได้ยินคำว่า “บุญมี แต่กรรมบัง” มั้ยครับ? คำนี้ล่ะที่อธิบายได้ดีมาก ๆ สำหรับคนที่ยังไม่ถึงเวลาของเขานั้น ต่อให้เราเคี่ยวเข็ญเท่าไหร่ เขาก็จะไม่มีวันสนใจในความหวังดีของเรา เพราะเขาถูก “กรรมบัง” ผมเองเคยเจอคนมาปรึกษาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพี่สาวมีปัญหา ลูกชายกำลังเจอมรสุมชีวิต และอีกมากมายล้านเจ็ดสิบเอ็ด ทุกคนบ่นเหมือนกันว่า ฉันพยายามช่วยทุกอย่างแล้ว เขาก็ยังไม่ดีขึ้น จะทำอย่างไรดี?
ผมเองได้แต่ตอบแบบให้กำลังใจไป ทั้งที่หลายครั้งอยากจะบอกเหลือเกินว่า “บุญ” ของเขายังไม่ถึง ถ้าบุญไม่ถึง ต่อให้ยื่นความช่วยเหลือไปอย่างไรก็ไม่ได้ผลเอาหนังสือดี ๆ ไปวาง เขาก็จะไม่อ่าน ออกเงินให้ไปเข้าสัมมนา เขาก็ฟังไปหลับไป ชวนไปวัดไปวา เขาก็ไปให้เรา จะได้จบ ๆ ไป กำลังจะได้ยินประโยคเปลี่ยนชีวิตจากในทีวี ก็มีอันที่เขาจะต้องลุกไปเข้าห้องน้ำ เรียกว่าแคล้วคลาดกับทางออกของชีวิตอยู่ร่ำไป ทำไมผมพูดแบบนั้น ก็เพราะเรื่องนี้เองเคยเกิดขึ้นกับชีวิตผมมาก่อน
ผมรู้เลยว่าตอนช่วงหลุมดำของชีวิตผมนั้น “บุญ” ผมไม่ถึง จึงต้องเผชิญกรรม ไขว่คว้าหาทางออกยังไงก็ไม่เจอ หรือต่อให้ทางออกมี ผมก็มองไม่เห็น
แต่แล้วจู่ ๆ วันนึงทางรอดมันก็มาพร้อม ๆ กันหมด เจอหนังสือดี ๆ เจอคนดี ๆ เจอโอกาสดี ๆ สุดท้ายก็หลุดวงโคจรนั้นมาได้ แล้วพอหลังจากนั้น ชีวิตก็ไม่เคยเจอปัญหาหนัก ๆ แบบนั้นอีกเลย หรือพอเหมือนจะมีปัญหา อยู่ดี ๆ ก็จะไปเจอทางออกมาบอกใบ้ให้ แล้วก็ผ่านมาได้อย่างไม่ยากลำบาก ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเป็นเพราะผม “บุญถึง” แล้วนั่นเอง
คำถามก็คือ แล้วทำอย่างไรจะให้ “บุญถึง”? คำตอบที่ผมจะตอบ อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องตามหลักศาสนา แต่คิดว่าน่าจะเข้าถึงคนทั่วไปได้ไม่ยาก ส่วนจะได้ผลหรือไม่ ลองไปปรับใช้ตามจริตเองก็แล้วกันครับ แท้จริงแล้วคำว่า “บุญ” นั้น ผมตีความว่ามันคือ “พลังงาน” นั่นเอง เน้นให้ชัดกว่านั้นก็คือ “พลังงานด้านบวก”
เพราะฉะนั้นถ้าเราทำให้จิตใจเราอยู่ใน “พลังบวก” เท่าไหร่ บุญที่ว่าก็จะค่อย ๆ สะสมจน “บุญถึง” เราทำอะไรได้บ้าง? แน่นอน ถ้าเป็นทางศาสนา ก็จะบอกให้ทำบุญทำทาน เข้าวัดเข้าวา ซึ่งนับเป็นเรื่องดีครับ ทำบุญทำทานน่ะทำไปเหอะ แต่ผมคิดว่าเราสามารถทำเพิ่มเติมจากนั้นได้อีก ไม่ว่าจะเป็น อยู่เงียบ ๆ คนเดียว ทบทวน นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมการกุศล ไม่หมกมุ่นกับปัญหา ให้อภัย คบคนดี ๆ หาความรู้ใหม่ ๆ ใส่สมอง มีทรัพย์พึงให้ทาน มีความรู้พึงให้วิทยาทาน มีแรงมีกำลังก็ช่วยสังคม ไม่มีแรง แค่รอยยิ้มให้พนักงานบริการก็ยอดเยี่ยมแล้วครับ นี่คือบางตัวอย่างที่ทำได้
แน่นอน ถ้า “บุญไม่ถึง” เขาคนนั้นก็จะไม่ยอมทำส่ิงเหล่านี้อยู่ดี ยังคงมีความสุขที่จะมีความทุกข์ต่อไป
ขอบพระคุณบทความดีๆ จาก บอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ นักเขียน Bestseller
ภาพประกอบ